ม.นเรศวรปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของ COVID-19 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยปรับให้เข้ากับบริบทของมหาวิทยาลัยอย่างครอบคลุมในทุกกลุ่ม (ดู 664 ครั้ง)
 

          รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะประธานคณะทำงานศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (COVID-19)  ให้สัมภาษณ์ นายมังกร  จีนด้วง  นายกสมาคมสื่อสารมวลชนพิษณุโลกและบรรณาธิการ  Northern News ว่า “มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำมาตรการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดพิษณุโลก ฯลฯ นำมาปรับให้เข้ากับบริบทของมหาวิทยาลัยนเรศวร เนื่องจากมีบุคลากรหลากหลายกลุ่ม หลายชาติ หลายภาษา

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดตั้งคณะทำงานศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อดำเนินการตามมาตรการเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด และหากมีความจำเป็นสามารถกำหนดมาตรการที่ใช้ภายในมหาวิทยาลัยได้ตามความเหมาะสม บูรณาการ รับเรื่องร้องเรียน สอบถามเกี่ยวกับโรคนี้ และทำหน้าที่สื่อสารให้นิสิตและบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร รับรู้ ตระหนัก และให้ความร่วมมือกับมาตรการต่าง ๆ ที่ประกาศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

มาตรการด้านการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยนเรศวร มีประกาศแนวปฏิบัติดังนี้

  1. หยุดดำเนินงานด้านการจัดการเรียนการสอน ทุกรูปแบบยกเว้นการสอนแบบออนไลน์ (online) ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม – 2 เมษายน 2563
  2. การสอบปลายภาค ภาคเรียนปลาย ปีการศึกษา 2562 ให้จัดการสอบในรูปแบบออนไลน์ การมอบหมายงาน (Assignment) การทำรายงาน (Report) หรือการนำข้อสอบไปทำนอกห้องสอบ (Take-home Exam) การวัดและประเมินผลจากผลงาน หรือในลักษณะอื่นที่เทียบเคียงกันได้
  3. การจัดสอบของนิสิตที่จะสำเร็จการศึกษาขอให้ดำเนินการจัดสอบให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มีนาคม 2563 เนื่องจากวันที่สำเร็จการศึกษาตามปฏิทินการศึกษา คือวันที่ 30 มีนาคม 2563 โดยให้ใช้วิธีการสอบในลักษณะเดียวกับข้อ 2
  4. ขยายระยะเวลาการรายงานผลการเรียนประจำภาคเรียนปลาย ปีการศึกษา 2562 จากเดิมวันที่ 28 เมษายน 2563 เป็น วันที่ 12 พฤษภาคม 2563
  5. แนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนภาคเรียนฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562 ให้เปิดรายวิชาเฉพาะกรณีรายวิชาที่อยู่ในแผนการเรียน รายวิชาที่นิสิตตกแผน รายวิชาที่นิสิตขอแก้ไขผลการเรียน และรายวิชาที่นิสิตจะสำเร็จการศึกษา โดยใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือลักษณะอื่นที่ไม่ต้องจัดชั้นเรียน โดยต้องบรรลุตามผลลัพธ์การเรียนรู้ของรายวิชา
  6. การปฏิบัติตนของนิสิตในช่วงที่มหาวิทยาลัยหยุดดำเนินงานด้านการจัดการเรียนการสอน ให้อยู่ในที่พักอาศัย ทบทวนบทเรียน หรือ เตรียมการเรียนเนื้อหาล่วงหน้าสำหรับรายวิชาภาคเรียนถัดไป เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดการเดินทาง งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนอยู่รวมที่เดียวกันจำนวนมาก รักษาสุขภาพส่วนบุคคลด้วยการหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และสวมใส่หน้ากากอนามัย

มาตรการด้านบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร มีประกาศแนวปฏิบัติดังนี้

  1. มาตรการลดความแออัดในสถานที่ทำงาน

                   1.1 ผลัดเปลี่ยนเวลาการทำงานโดยให้ครบเวลาทำงาน 7 ชั่วโมง ดังนี้

                             1.1.1 เข้าปฏิบัติงานเวลา 08.00-16.00 น. พักเวลา 11.00 น.

                             1.1.2 เข้าปฏิบัติงานเวลา 09.00-17.00 น. พักเวลา 12.00 น.

                             1.1.3 เข้าปฏิบัติงานเวลา 10.00-18.00 น. พักเวลา 13.00 น.

1.2 มาตรการผลัดเปลี่ยนวันทำงาน กรณีที่มีความจำเป็นให้บุคลากรผลัดเปลี่ยนวัน ทำงาน โดยให้คง

     บุคลากรให้ครบตามภารกิจที่สำคัญและจำเป็นของหน่วยงาน

  1. มาตรการลดการแพร่ระบาดกรณีไปในพื้นที่เสี่ยง

                   การทำงานผ่านระบบออนไลน์ ในกรณีที่บุคลากรเดินทางไปราชการในจังหวัดและ   พื้นที่ที่มีความเสี่ยง

              ของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ผู้   บังคับบัญชาดำเนินการ ดังนี้

2.1 มอบหมาย กำกับติดตาม และกำหนดเวลาส่งงาน

2.2 ตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งของบุคลากรที่ทำงานผ่านระบบออนไลน์

มาตรการด้านโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร  คณะแพทยศาสตร์

1.เปิดคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน/โรคไข้หวัด  (Acute Respiratory Infection หรือ  ARI Clinic บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 1 สำหรับคัดกรองผู้ป่วยโรคไข้หวัด และกลุ่มเสี่ยงเข้าเกณฑ์ COVID 19   มีขั้นตอนตั้งแต่การตรวจรักษา  จ่ายเงิน จ่ายยา  ณ จุดเดียว (One Stop Care)  ลดการเข้ามาในโรงพยาบาลปะปนกับผู้ป่วยทั่วไป ทำการตรวจในเวลาราชการตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.

2.นำหุ่นยนต์ตรวจคัดกรองโรคมาใช้เพื่อลดการสัมผัสเชื้อ ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์  โดยหุ่นยนต์จะสามารถเคลื่อนที่ได้โดยการบังคับผ่านระบบ Smart phone หรือ คอมพิวเตอร์ โดยในเบื้องต้นจะนำมาใช้ในการซักประวัติผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง และเข้าเกณฑ์ COVID 19  รวมทั้งจัดให้มีทีมแพทย์ด้านอายุรศาสตร์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก ทำการตรวจผู้ป่วยด้วย

3.กำหนดประตูเข้าออกโรงพยาบาลเหลือ 2 ประตู ได้แก่ประตูด้านหน้าข้างธนาคารกรุงเทพ  โดยประตูจะเปิดตั้งแต่ เวลา 06.30 - 21.00 น.  ส่วนในวันหยุดเวลาราชการให้ผู้รับบริการ ใช้ประตูข้างห้องฉุกเฉิน  โดยมีการวัดไข้ และให้ล้างมือก่อนและหลังเข้ารับบริการในโรงพยาบาลซึ่งทางโรงพยาบาลได้เพิ่มจุดล้างมือกว่า 100

4.มีห้องปลอดเชื้อ Negative Pressure Room จำนวน 1 ห้อง ที่ MICU สำหรับรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

5.มี Negative Pressure Container ด้านหน้าโรงพยาบาล จำนวน 2 ห้อง สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

มาตรการด้านโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์

  1. คลินิกในเวลาราชการให้รักษาคนไข้ต่อเนื่อง ให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2563
  2. คลินิกในเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 กำหนดให้มีอาจารย์มาลงตรวจผู้ป่วย (OPD) คาบละ 2 คน โดยทำเฉพาะหัตถการที่จำเป็น ฉุกเฉินและ อุบัติเหตุ เช่น มีอาการปวดบวมจากการติดเชื้อ ภาวะเลือดออกที่ต้องได้รับการห้ามเลือด เป็นต้น และงดการลงปฏิบัติงานคลินิกของนิสิตทุกกรณี

3.คลินิกนอกเวลาราชการ ปิดให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ 23 มีนาคม 2563

<< ดูสไลด์รูปภาพ คลิก >>

 
 
เพิ่มข้อมูลเมื่อ : ศ. 20 มี.ค. 2563 เวลา 17.13 น.
โดย : นางสาวณัฐพร แก้วแดง
 
    @ans 2015
  Copyright © 2015 Med nu.ac.th.thrights reserved. (Support web browser for Google Chrome, IE11, Mozilla Firefox)