วิธีการเก็บและวิธีส่งสิ่งส่งตรวจทางศัลยพยาธิ
     วิธีเตรียมชิ้นเนื้อ
     วัสดุอุปกรณ์และสารเคมีที่ต้องเตรียม
     1. ขวดปากกว้างมีฝาปิดสนิทขนาดต่าง ๆ อาจจะใช้ขวดแก้วใส ขวดพลาสติกใส หรือ ถุงพลาสติกก็ได้ขึ้นกับขนาดของชิ้นเนื้อ
     2. ใบส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
     3. ป้ายกระดาษที่ไม่ฉีกขาดง่ายเมื่อถูกน้ำสำหรับปิดขวด
     4. น้ำยาสำหรับแช่เนื้อที่เหมาะสม คือ 10% Neutral buffered formalin ( 10% NBF: น้ำยาฟอร์มาลิน)
         วิธีผสมน้ำยาฟอร์มาลิน
              o 40 % Formaldehyde 100 cc.
              o น้ำกลั่น 900 cc.
              o Sodium dihydrogen phosphate monohydrate 4 กรัม
              o Disodium hydrogen phosphate anhydrous 6.5 กรัม
     การแช่ชิ้นเนื้อ
     1. ชิ้นเนื้อทุกชนิดที่ได้จากการผ่าตัด, biopsy ต้องแช่ชิ้นเนื้อในน้ำยาฟอร์มาลิน (10% NBF) เพื่อป้องกันการเน่า โดยใส่ขวดปากกว้างพอที่จะนำชิ้นเนื้อออกมาได้เมื่อชิ้นเนื้อแข็งเต็มที่แล้ว ขวดควรจะมี ฝาปิดสนิทป้องกันการระเหย ปริมาตรน้ำยาที่ใช้ประมาณ 10-12 เท่าของชิ้นเนื้อ ขวดที่ใส่ชิ้นเนื้อจะต้อง ปิดฉลากชื่อ, นามสกุล, เพศ, อายุ, เลขที่ภายในของโรงพยาบาล (HN.) วัน เดือน ปี ที่มาของชิ้นเนื้อว่าตัดมาจาก อวัยวะใน ส่วนใด ของร่างกาย ขวาหรือซ้าย ชื่อแพทย์ผู้ส่งตรวจ และคำวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษา ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสลับ ชิ้นเนื้อใช้ดินสอและปากกาลูกลื่นที่ไม่ลบเลือนในน้ำยาฟอร์มาลินและแอลกอฮอล์ เขียนฉลาก
     2. ถ้าหากชิ้นเนื้อมีขนาดใหญ่ น้ำยาจะซึมผ่านได้ไม่ตลอดทำให้เนื้อส่วนที่อยู่ลึกจากผิวเน่า จึงควรจะฝานเนื้อเป็นชิ้น ๆ มีความหนาประมาณ 1-2 ซม. โดยไม่ขาดจากกัน และต้องไม่ทำให้ชิ้นเนื้อ เสียรูปร่าง คือ สามารถจะจัดเรียงเป็นรูปเดิมได้ เพื่อการตรวจทางกายวิภาคให้ถูกต้อง ถ้าหากชิ้นเนื้อ มีขนาดเล็กมาก ควรห่อด้วยกระดาษสาชั้นหนึ่งก่อนแช่น้ำยา (กระดาษสาขอรับได้ที่หน่วยพยาธิวินิจฉัย )
     3. โดยทั่วไป พยาธิแพทย์มีความประสงค์จะตรวจชิ้นเนื้อทั้งหมดที่ตัดออกมาจากผู้ป่วยเพื่อจะได้ดูถึงพยาธิสภาพทั้งด้วยตาเปล่าและด้วยกล้องจุลทรรศน์ และบันทึกเป็นหลักฐานทางวิชาการได้ ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยและการติดตามผลภายหลัง จึงควรส่งชิ้นเนื้อตรวจทั้งหมด
     การส่งชิ้นเนื้อทางศัลยพยาธิ
     1. ส่งทั้งขวดหรือภาชนะที่มีน้ำยาฟอร์มาลินและเนื้อแช่อยู่ โดยภาชนะจะต้องปิดสนิทน้ำยาไม่สามารถไหลออกมาได้ กรณี ใส่ถุงพลาสติกใส ควรใส่ถุงหลายชั้น เพื่อป้องกันการรั่วซึม และการระเหย ของฟอร์มาลิน ควรระวังชิ้นเนื้อขนาดเล็กติดอยู่ที่ฝาขวด หรือติดอยู่บริเวณถุงพลาสติกตรงรอยรัดยาง
     2. ใบขอส่งตรวจที่มีรายละเอียดครบถ้วน
     3. ส่งที่ หน่วยพยาธิวินิจฉัย ภาควิชาพยาธิวิทยา ชั้น 6 อาคารสิรินธร โทร.05596-5326