ประวัติคณะแพทยศาสตร์
 
 
 

 

        การดำเนินการผลิตบัณฑิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมกับสถาบันร่วมผลิต สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรองรับนโยบายการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ภูมิภาค และจากการศึกษาความเป็นไปได้ ถึงความเหมาะสมของการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นใหม่ในมหาวิทยาลัยภูมิภาค เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการผลิตแพทย์เพิ่มและกระจายแพทย์ลงสู่ส่วนภูมิภาค
        จากแนวทางดังกล่าว มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์ต่อทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2536 โดยมุ่งหวังที่จะผลิตแพทย์สนองนโยบายรัฐบาลโดยแนวทางที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกับโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดภาคเหนือตอนล่างรวม 9 จังหวัด (พิษณุโลก นครสวรรค์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุทัยธานี พิจิตร เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์) และจังหวัดพะเยา ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
คณะรัฐมนตรี มีมติ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2537 ให้มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวร สามารถเปิดรับนิสิตแพทย์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 เป็นต้นมา โดย หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการรับรองจากแพทยสภา เมื่อ พ.ศ. 2539
 
        หลังจากได้รับการรับรองหลักสูตรจากแพทยสภาแล้ว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดรูปแบบการจัดการเรียนการสอน โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรรับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนชั้นก่อนคลินิก (ชั้นก่อนคลินิกระดับชั้นปีที่ 1 นิสิตแพทย์ ได้เรียนร่วมกับนิสิต คณะวิทยาศาสตร์ และคณะทางสังคมศาสตร์ ระดับชั้นปีที่ 2 – 3 เรียนวิชาในชั้นก่อนคลินิกที่จัดการเรียนการสอน โดยคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์ ในส่วนคณะแพทยศาสตร์รับผิดชอบในการสอนวิชาพยาธิวิทยา และเวชศาสตร์ชุมชน ครอบครัว และอาชีวเวชศาสตร์) สำหรับชั้นคลินิกใช้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเป็นสถานที่สอนชั้นคลินิก คือ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ซึ่งมีการลงนามความร่วมมือการผลิตแพทย์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยนเรศวร ปี พ.ศ. 2537
 

 
        ในปี พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรี ยังมีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัยจัดทำ "โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท" ขึ้น โดยเริ่มรับนิสิตตั้งแต่ ปี 2538 เป็นต้นมา (ปีการศึกษา 2538 รับนิสิตแพทย์ จำนวน 34 คน, ปีการศึกษา 2539 รับนิสิตแพทย์ จำนวน 28 คน) และเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ ในปี 2540 กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดตั้ง "สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อ ชาวชนบท" เพื่อรับผิดชอบโครงการดังกล่าว สำนักงานนี้มีฐานะเทียบเท่ากองในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ใช้ชื่อย่อว่า สบพช. มีเป้าหมายผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท จำนวน 3,000 คน ในระหว่างปี 2538 – 2549
        มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินการผลิตแพทย์ตามโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ในปี 2540 รับนิสิตแพทย์โดยร่วมผลิตกับโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จำนวน 61 คน และต่อมาในปี 2542 ได้ขยายการเรียนการสอนชั้นคลินิกโดยร่วมผลิตกับโรงพยาบาลศูนย์อุตรดิตถ์ รับนิสิตแพทย์ จำนวน 30 คน รวมเป็นผลิตปีละประมาณ 90 คน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 เป็นต้นมา

สถาบัน
การผลิต

2538

2539

2540

2541

2542

2543

2544

2545

2546

2547

2548

2549

รวม

รพ.พุทธชินราช/
ม.นเรศวร

34

28

61

61

58

52

59

58

60

60

60

60

651

รพ.อุตรดิตถ์/ม.นเรศวร

-

-

-

-

30

30

30

30

27

30

30

30

237

 
สรุป: โดยหลักการ เรื่อง การดำเนินการเพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ตามนโยบายของรัฐบาล
        ด้วยเหตุผลที่ต้องดำเนินการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระหว่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร กับ กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจาก
        1. เป็นไปตามโครงการขยายการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และภายใต้การกำกับของสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540
        2. เพื่อตอบสนองความต้องการเพิ่มการผลิตแพทย์และการกระจายแพทย์ของประเทศ ด้วยแนวคิดที่ต้องการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่คนในพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ได้กลับไปทำงานตามภูมิลำเนาเดิม
        3. เพื่อประโยชน์สูงสุดของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และเกิดการพัฒนาในทุกภาคส่วนตามโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรกับกระทรวงสาธารณสุข
        ในปี 2544 บัณฑิตแพทย์รุ่นแรก จากมหาวิทยาลัยนเรศวร สำเร็จการศึกษาและปฏิบัติงาน ในระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย ได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินบัณฑิตแพทย์ที่จบจาก มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง รูปแบบและคุณภาพการผลิต เป็นการวิจัยเชิงสำรวจโดยการส่งแบบสอบถามไปถึงบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาจารย์ผู้สอน กลุ่มสถาบันผู้ใช้ผลผลิตบัณฑิตแพทย์ และบัณฑิตแพทย์ที่จบไปปฏิบัติงานแล้ว โดยใช้เกณฑ์พิจารณาคุณลักษณะของแพทย์ 5 ดาว ดังนี้ 1. การเป็นผู้ให้การบริบาล 2. เป็นผู้ตัดสินใจ 3. เป็นผู้สื่อสาร 4. เป็นผู้นำชุมชน และ 5. เป็นผู้จัดการ
        สรุปผลการวิจัยพบว่า บัณฑิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวรมีคุณภาพทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นแม้จะใช้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นสถาบันชั้นคลินิก การทำให้รูปแบบนี้มีความยั่งยืนต้องอาศัยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลายประการ ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง การประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาบริการเฉพาะทางของสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยนเรศวร (ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย และคณะ, 2546)
 
การเตรียมความพร้อมเพื่อปรับปรุงและพัฒนาในระยะเวลาที่ผ่านมา
        1. เนื่องจากจำนวนนิสิตที่เพิ่มมากขึ้นจึงต้องพัฒนาในทุกส่วน โดยเฉพาะด้านการเรียน การสอน ในระยะเริ่มต้นต้องพัฒนาระดับชั้นปรีคลินิก ซึ่งคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมมือกันพัฒนามาโดยตลอด
        2. ความพร้อมของแหล่งฝึกและการพัฒนาด้านแพทยศาสตรศึกษาของศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก
        3. ด้านคุณภาพการเรียนการสอน ได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์และสถาบันร่วมผลิต
        4. ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ได้มีการประเมิน คุณภาพของนิสิต บัณฑิต รวมถึงการให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพการศึกษาในองค์ประกอบอื่น ๆ
        ในปี พ.ศ. 2545 คณะแพทยศาสตร์ได้ดำเนินการเปิดสอนนิสิตหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต ภาคปกติ (แผน ก.) และภาคพิเศษ (แผน ข.) เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่บุคลากรสาธารณสุขและบุคลากรทั่วไป ได้แสวงหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติม และเป็นการตอบสนองการบริการด้านสาธารณสุขให้เหมาะสมกับท้องถิ่นต่อไป ยิ่งกว่านั้น คณะแพทยศาสตร์ ยังได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก ในปี 2543 และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ในปี 2544 อีกทั้งปรัชญาดุษฎีบัณฑิตหลักสูตรระบบและนโยบายสุขภาพ (หลักสูตรนานาชาติ) ในปี 2545 ซึ่งเป็นสาขาขาดแคลนเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐและกระทรวงสาธารณสุขตามความต้องการของชุมชนอีกด้วย
        ปีการศึกษา 2546 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดรับนิสิตแพทย์แนวใหม่ 30 คน โดยรับจากบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้โอกาสผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์หรือสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่มีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการสาธารณสุข เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีระยะเวลาเวลาศึกษา 5 ปี (เทียบโอนหน่วยกิตในชั้นปีที่ 1) และศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เหมือนกับนิสิตแพทย์ปกติทุกประการ และจะขยายการรับนิสิตแพทย์แนวใหม่เพิ่มขึ้นตามความจำเป็นของการผลิตแพทย์เพิ่มให้กับประเทศ
        ในปี พ.ศ. 2546 สภามหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป ดังนั้นคณะแพทยศาสตร์ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนและโครงสร้างการบริหารงานใหม่อีกครั้ง ประกอบด้วย สำนักงานเลขานุการคณะฯ ภาควิชา 2 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาพยาธิวิทยาและนิติเวชศาสตร์ และภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนครอบครัวและอาชีวเวชศาสตร์ (ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนเดิม) โดยร่วมผลิตบัณฑิตแพทย์กับโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก, โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ และในระยะคลินิกของนิสิตแพทย์แนวใหม่จะขยายไปเรียนที่ โรงพยาบาลเครือข่าย 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพิจิตร, โรงพยาบาลแพร่ และโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
        ในปี 2548 มหาวิทยาลัยนเรศวร มีมติให้คณะแพทยศาสตร์ รวมสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ อันเนื่องมาจากโครงการเร่งรัดผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ซึ่งนิสิตจะต้องเข้าเรียนในชั้นปีที่ 4-6 ที่สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทางแพทยสภาได้จัดส่งผู้แทนมาพิจารณาความพร้อมด้านสถานที่ ได้ให้คำแนะนำในการปรับโครงสร้างคณะแพทยศาสตร์ให้สามารถรองรับการบริหารและการจัดการเรียนการสอนแพทย์ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเช่นโรงเรียนแพทย์อื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มีหลักสูตรที่รับผิดชอบอยู่ทั้งสิ้น 5 หลักสูตร คือ
        1. หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
        2. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว
        3. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
        4. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาแพทยศาสตรศึกษา
        5. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตหลักสูตรระบบและนโยบายสุขภาพ(หลักสูตรนานาชาติ)
ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ มีแผนการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรอื่น ๆ ให้ทันสมัยและมีเอกลักษณ์ อยู่เสมอมา
 
     

 
     
 
 
    @ans 2015
  Copyright © 2015 Med nu.ac.th.thrights reserved. (Support web browser for Google Chrome, IE11, Mozilla Firefox)